วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจความหมายของแฟ้มผลงาน
2. เพื่อให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจองค์ประกอบของกรอบการออกแบบการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน
3. เพื่อให้ครูมีความรู้ ความเข้าใจการประกันคุณภาพของแฟ้มผลงาน
4. เพื่อให้ครูสามารถใช้แฟ้มผลงานในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้

การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน
ความหมายของแฟ้มผลงาน
แฟ้มผลงาน (Portfolio) หมายถึง แฟ้มที่รวบรวมผลงานของผู้เรียนที่ได้รับการคัดเลือกแล้วโดยผู้เรียนและครูภายใต้ระยะเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างเป็นระบบ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึง การเรียนรู้ ความเข้าใจ ทักษะ/กระบวนการ เจตคติ และสะท้อนความคิดเห็นของผู้เรียน แฟ้มยังแสดงให้เห็นความสำเร็จของผู้เรียนในหลายๆ ด้านให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ โดยครูและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างและประเมินแฟ้มผลงานด้วยกัน
การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานกับแบบทดสอบมาตรฐาน
1. การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานสามารถวัดความก้าวหน้าของผู้เรียนในลักษณะที่แบบทดสอบมาตรฐานทำไม่ได้ โดยแฟ้มผลงานจะสะท้อนขอบข่ายของการสอนและการเรียนรู้ เคารพในความแตกต่างของผู้เรียนในด้านความแตกต่างส่วนบุคคลและด้านอื่นๆ
2. การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานเป็นทางเลือกหนึ่งของการทดสอบที่แตกต่างกับ สภาพเดิมที่ครูมักใช้แบบทดสอบวัดความสามารถในการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับเพิ่มขึ้น ครูจึงมีแนวโน้มที่จะสอนตามข้อสอบไปด้วย ซึ่งเป็นสภาพการณ์ที่พบมากในปัจจุบัน ทำให้วัตถุประสงค์ของหลักสูตรไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
3. การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานช่วยลดความสำคัญของแบบทดสอบ แต่เน้นการสอนที่ยืดหยุ่น ยึดความแตกต่างระหว่างบุคคลและสิ่งที่มีความหมายสำหรับผู้เรียน ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
4. การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานสามารถวัดสิ่งที่เรียนรู้เพิ่มขึ้นภายในช่วงสั้นๆ ได้ ซึ่งเปรียบเทียบกับแบบทดสอบมาตรฐานแล้ว การวัดการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ต้องใช้เวลาเรียน ไม่น้อยกว่า 50-100 ชั่วโมง แต่การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานนั้นสามารถแสดงความก้าวหน้าของผู้เรียนได้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่า เช่น สามารถใช้แฟ้มผลงานแสดงให้เห็นสัมฤทธิ์ผลได้ภายในช่วงเวลา 6-8 ชั่วโมง
5. การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานมีความเที่ยงตรงตามสิ่งที่ต้องการประเมิน โดยทั่วไปผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผลต้องการแปลความหมายของคะแนนที่ได้จากการทดสอบด้วยข้อสอบมาตรฐาน แต่ในหลายกรณีก็ไม่สามารถแปลได้ถูกต้อง เหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่พบใน การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน เพราะผลงานที่ประเมินเป็นสิ่งที่ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งทราบได้ทันทีว่า ผู้เรียนทำอะไรได้บ้างโดยพิจารณาจากผลงานที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำ
ความคาดหวังจากการใช้การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน
1. เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ (Changes in Learning)
- ผู้เรียนเปลี่ยนเป็นผู้ประเมินตนเองแทนครูผู้เดียวเป็นผู้ประเมิน
- ผู้เรียนรู้ว่าอะไรที่ตนทำได้ดี และอะไรที่ต้องปรับปรุง
- ผู้เรียนสามารถแสดงให้ครูเห็นว่า ผู้เรียนพัฒนาได้อย่างไร
- ผู้เรียนสามารถบอกเป้าหมายเฉพาะของตนได้อย่างชัดเจน
- ผู้เรียนอยู่ในโลกของความจริงมากขึ้น กล่าวคือ สามารถตัดสินใจได้ว่า ผู้เรียนต้องการทำอะไรเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
- ผู้เรียนจะลดการแข่งขันกับเพื่อน
2. เปลี่ยนแปลงการสอน (Changes in Teaching)
- ครูจะเป็นผู้ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาขึ้นไปในทิศทางที่ผู้เรียนต้องการไปให้ถึง
- ครูไม่ใช่ศูนย์กลางการเรียนการสอน แต่ผู้เรียนจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน
- การสอนไม่เน้นเฉพาะความรู้ (Knowledge) แต่ต้องเน้นทักษะ (Skills) และเจตคติ (Attitude) ควบคู่กันไป
จุดมุ่งหมายของการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน
การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานทำได้หลายจุดมุ่งหมาย คือ
1. ผู้เรียนประเมินตนเอง (Student Self-Assessment)
2. ครูประเมินการสอนของตนเองในรูปแบบการวิจัย (Teacher Research) เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับการสอน ครูจะทราบได้ว่า อะไรที่ทำแล้วประสบความสำเร็จในการสอน และอะไรบ้างที่ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในการสอน
3. ประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียนเป็นรายบุคคล (Evaluate Individual Students Progress)
4. ประเมินความรอบรู้ของผู้เรียนตามเกณฑ์ที่กำหนด (Evaluate Individual Students Mastery)

ส่วนประกอบของแฟ้มผลงานทางด้านการเรียน/การศึกษา
แฟ้มผลงานทางด้านการเรียน/การศึกษาประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนนำ ประกอบด้วย ปก ประวัติผู้จัดทำ รายการผลการเรียนรู้ แผนการศึกษา ส่วนบุคคล สารบัญชิ้นงาน รายการการคัดเลือกชิ้นงาน
2. ส่วนที่รวบรวมชิ้นงานต่างๆ ที่เป็นผลจากการเรียน ความคิดเห็นต่อชิ้นงาน จำนวนหนังสือที่อ่าน เวลาที่ใช้ทำงาน คะแนนจากการทดสอบ แบบสำรวจรายการของครูที่บ่งชี้พัฒนาการของผู้เรียน ความคิดเห็นเกี่ยวกับงานหรือรายวิชาที่เรียน
3. ส่วนที่เก็บเกณฑ์การตัดสินแฟ้มผลงาน และข้อมูลการประเมินของครู เพื่อน และผู้ปกครอง ตลอดจนการประเมินตนเองของผู้เรียน รวมทั้งแผนการและแนวคิดในการพัฒนาผู้เรียนจากการประเมินแฟ้มผลงาน
องค์ประกอบของกรอบการออกแบบการประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน

รายละเอียดของกรอบการออกแบบประเมินโดยใช้แฟ้มผลงานมี 5 องค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (Outcome) สิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนรู้หรือสามารถทำได้คืออะไร (จุดประสงค์ปลายทาง)
2. ดัชนีบ่งชี้ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (Outcome Indicators) ผู้เรียนต้องแสดงพฤติกรรมย่อยๆ เช่นใดออกมา จึงถือว่าเป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
3. การจัดโอกาสการเรียนรู้ (Learning Opportunities) ครูจะสอน/จัดประสบการณ์เช่นใดเพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุตามผลการเรียนที่คาดหวัง
4. ชิ้นงาน (Assessment Task) เพื่อพิสูจน์ว่า ผู้เรียนได้พัฒนาหรือบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
5. เกณฑ์การให้คะแนน (Rubric) ครูจะสื่อสารเพื่อบอกกล่าวผู้อื่นได้อย่างไรว่า ผู้เรียนได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว
ในการประเมินผลการเรียนควรกำหนดกรอบการออกแบบการประเมินตามองค์ประกอบ ดังกล่าว โดยจัดทำตลอดภาคเรียนและวางแผนไว้ล่วงหน้า เมื่อปฏิบัติการสอนจริง ครูก็สามารถดำเนินตามกรอบการออกแบบการประเมินได้อย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนก็สามารถพัฒนาแฟ้มผลงานของตนเองได้อย่างสอดคล้องกับกรอบดังกล่าว